หลายคนยังเข้าใจว่าการจำนอง และการขายฝากนั้นเหมือนกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้งสองธุรกรรมนี้มีความแตกต่างกันในหลายข้อ ทั้งในเรื่องของกรรมสิทธิ์ ระยะเวลาของสัญญา อัตราค่าธรรมเนียม และวงเงินในการอนุมัติ
การจำนอง และการขายฝาก มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
1. กรรมสิทธิ์
จำนอง: ผู้จำนองไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ไปยังผู้รับจำนอง
ขายฝาก: ผู้ขายฝากต้องโอนกรรมสิทธิ์ไปยังผู้รับซื้อฝาก
2. ระยะเวลาของสัญญา
จำนอง: ตกลงเวลา และการชำระดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันในสัญญา ผู้จำนองสามารถจ่ายดอกเบี้ยเป็นปกติต่อไป หากไม่มีการฟ้องบังคับจำนอง
ขายฝาก: ผู้ขายฝากต้องมาไถ่ถอนภายในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ในสัญญา หากเลยกำหนดเวลา สามารถขยายเวลาขายฝากกี่ครั้งก็ได้ ครั้งละนานเท่าไหร่ก็ได้ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 10 ปี
3. อัตราค่าธรรมเนียม
จำนอง: เสียค่าธรรมเนียมอัตรา 1% จากวงเงินจำนอง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และค่าอากรแสตมป์ คิดตามวงเงินจำนอง โดยทุก ๆ 2,000 บาทจะต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาท (เศษของ 2,000 ก็คิดเป็น 1 บาท) แต่ต้องไม่เกิน 10,000 บาท
ขายฝาก: เสียค่าธรรมเนียมอัตรา 2% จากราคาประเมินกรมที่ดิน และเสียภาษีตามฐานภาษีจากราคาประเมิน และค่าอากร (0.5%) หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ (3.3%) จากราคาซื้อขาย หรือ ราคาประเมิน อยู่ที่ตัวไหนสูงกว่า
4. วงเงินในการอนุมัติ
จำนอง: ส่วนใหญ่จะได้วงเงินน้อยกว่า 30% ของราคาประเมิน หรือ ราคาตลาด
ขายฝาก: ได้วงเงินประมาณ 40-70% ของราคาประเมิน หรือ ราคาตลาด